มาออมเงินด้วยเทคนิค Kakeibo กันเถอะ

ระหว่างนั่งคุยกับกลุ่มเพื่อน มีคนหนึ่งตั้งคำถามขึ้นมาว่า ” คุณคิดว่าการออมเป็นเรื่องยากหรือง่ายค่ะ ”  ด้วยคำถามนี้ ทำให้เราได้คำตอบที่หลากหลาย เพื่อนบางคนบอกว่า ” การออมเป็นเรื่องง่ายในตอนเริ่มต้น เริ่มกลายเป็นเรื่องยากในตอนกลาง และกลายเป็นเพียงความฝันในตอนจบ ” ฟังแล้วก็แอบขำพร้อมทั้งน้อมรับว่ามีเค้าความจริงอยู่เหมือนกัน ส่วนอีกคนบอกว่า ” ออมเงินทุกวัน แต่พอหมดเดือนเงินก็หมดตามด้วย ” สรุปแล้วแต่ละคนก็มีทัศนคติต่อการออมเงินที่คล้ายๆกัน แล้วคุณละคะมีความคิดเห็นอย่างไรต่อคำถามนี้

ฉันคิดว่าการออมเป็นเรื่องที่ดูเหมือนง่าย ทำยาก แต่ก็ไม่ได้ยากเกินจนทำไม่ได้ เพียงแต่ต้องอาศัยเทคนิค เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจ วันนี้ฉันจึงมีเทคนิคการออมเงินง่ายๆ แต่ทำได้จริงด้วยเทคนิคที่ชื่อว่า ” Kakeibo ”  เป็นเทคนิคการออมเงินของคนญี่ปุ่น ที่ไม่ยุ่งยาก ทำง่ายไม่ซับซ้อน ใช้อุปกรณ์แค่ 2 อย่าง นั้นคือสมุดและปากกา บวกกับความมีวินัยเข้าไป ก็สามารถออมเงินได้จริงแน่นอน ต้องทำอย่างไรบ้างมาดูกันเลยดีกว่า

Kakeibo คืออะไร

Kakeibo อ่านว่า คะเคโบะ ซึ่งแปลว่า ” บัญชีแยกประเภทการเงินในครัวเรือน ” เป็นเทคนิคการออมเงินของแม่บ้านชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีอายุยาวนานถึง 117 ปี แต่ก็ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน แนวคิดนี้เกิดขึ้นในปี 1904 โดย Hani Motoko นักข่าวหญิงคนแรกของญี่ปุ่น

แนวคิดหลักของ Kakeibo

Kakeibo เป็นแนวคิดที่มุ้งเน้นการคุยกับตัวเองเกี่ยวกับการเงิน โดยแยกประเภทการเงิน เพื่อวางแผนการออม ไปพร้อมๆกับการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แนวคิดนี้ทำให้ฉันนึกถึงประโยคหนึ่งจาก วอร์เรน เอ็ดเวิร์ด บัฟเฟตต์ กล่าวไว้ว่า ” จงอย่าเก็บออมเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย แต่ควรใช้จ่ายเงินที่เหลือจากการเก็บออม ” การที่เราจะทำตามคำแนะนำของวอร์เรนได้นั้น เราจำเป็นต้องรู้จักการเงินของตัวเองให้ได้ก่อน และวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้เราได้รู้จักการเงินของตัวเองคือบันทึกรายรับและรายจ่ายทั้งหมด ประเมิน และจัดรูปแบบการใช้จ่ายอีกครั้งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นั้นแหละคือวิธีของการออมเงินด้วยเทคนิค Kakeibo

Kakeibo

วิธีออมเงินด้วยเทคนิค Kakeibo

วิธีออมเงินด้วยเทคนิค Kakeibo คือการจดบันทึกรายรับรายจ่ายอย่างละเอียดลงในสมุด แนะนำให้เริ่มต้นจดในทุกๆต้นเดือนโดยสิ่งที่ต้องจดมีดังนี้

  1. จดรายได้ทั้งหมด 

  2. จดค่าใช้จ่าย 

  3. หาจำนวนเงินที่เหลือ 

  4. วางแผนการออม 

  5. สรุปประจำเดือน

สรุปแล้วการออมเงินแบบ Kakeibo มีอุปกรณ์เพียง 2 อย่างกับการจด 5 ขั้นตอน ช่วงต้นเดือนหาเวลาเงียบๆ หยิบสมุดกับปากกานั่งคุยเรื่องการเงินกับตัวเองผ่านการจดบันทึก เหมือนตอนเขียนไดอารี่เพียงแต่เป็นการจดไดอารี่ทางการเงิน เขียนรายรับทั้งหมด ต่อด้วยแยกประเภทรายรายจ่ายโดยแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ย่อยๆ เป็น 4 ประเภท นั้นคือ

  1. ประเภทการใช้จ่ายทั่วไป ที่จำเป็นต้องจ่ายแน่นอนในทุกเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าไวไฟ ค่าของใช้ในบ้าน เป็นต้น 
  2. ประเภทค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวเราเอง ของไม่จำเป็น มีหรือไม่มีก็ได้ แต่เราอยากได้ เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย งานอดิเรก ไปเที่ยว เป็นต้น เนื่องจาก Kakeibo มุ่งเน้นการคุยกับตัวเอง สำหรับการใช้จ่ายในประเภทนี้ต้องคอยถามตัวเองว่า สิ่งนี้จำเป็นหรือไม่ ถ้าไม่ซื้อจะเป็นอะไรหรือเปล่า ค่อยซื้อเดือนหน้าได้ไหม เป็นต้น มีอีกประโยคหนึ่งจาก วอร์เรน เอ็ดเวิร์ด บัฟเฟตต์ ที่ฉันมักใช้เตือนสติตัวเองเสมอนั้นคือ ” หากคุณซื้อแต่ของที่ไม่จำเป็น ไม่นานคุณจะต้องขายของที่จำเป็น “
  3. ประเภทค่าใช้จ่ายทางใจนั้นคือค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงต่างๆ เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต และการสมัครสมาชิกสตรีมมิ่งต่างๆ 
  4. ประเภทค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด คือ สิ่งที่ไม่ได้จ่ายเป็นประจำ เช่น ค่าซ่อมแซม ค่ารักษาพยาบาล ค่าของขวัญ หรือเหตุฉุกเฉินต่างๆ

การแยกประเภทค่าใช้จ่าย จะทำให้เราเห็นภาพการเงินของตัวเองชัดเจน อีกทั้งยังง่ายต่อการจัดสรรงบประมาณได้อย่างถูกต้อง เช่นเดือนนี้อยากจะทุ่มงบให้กับเรื่องใด หรือค่าใช้จ่ายประเภทไหนที่สำคัญกว่า เป็นต้น ดังนั้นเมื่อจัดสรรงบประมาณการใช้จ่ายแล้วให้นำเงินเหล่านั้นมาลบกับรายรับทั้งหมด เราจะได้เห็นจำนวนเงินที่เหลือ ทำให้สามารถวางแผนการออมเงินได้ง่ายขึ้น ในที่นี่เราจะวางแผนเงินค่าใช้จ่ายก่อนหรือกำหนดเป้าหมายการออมก่อนก็ได้เช่น ออม 5% จากรายรับทั้งหมด แล้วค่อยวางแผนค่าใช้จ่าย หรือ วางแผนค่าใช้จ่ายก่อน เพื่อให้ทราบเงินส่วนที่เหลือจากนั้นค่อยวางแผนการออมต่อก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือการลงมือทำ ขอแนะนำให้เริ่มจากการออมที่น้อยๆก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นเท่าที่จะทำได้ หรือจะหาเทคนิคอื่นๆมาใช้เพิ่มเติมเพื่อสร้างแรงจูงใจมากขึ้นก็จะยิ่งดี

Kakeibo

เทคนิค Kakeibo จะเน้นการจดที่ละเอียดกว่าเทคนิคอื่นๆ จึงจำเป็นต้องเขียนให้ละเอียดทุกวันจนสิ้นเดือน เมื่อเราเห็นเส้นทางการเงินทั้งหมด แล้วจึงมาทำการประเมิน ว่าแต่ละเดือนเราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เราสามารถออมเงินได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้หรือเปล่า หรือสรุปโดยการตอบคำถาม 4 ข้อนี้ เช่น มีเงินออมอยู่เท่าไร ? ต้องการออมเงินเท่าเท่าไร ? ใช้เงินไปเท่าไร ? จะปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายอย่างไร ? เป็นต้น

สรุปแล้วในทุกๆการออม รวมไปถึงการออมเงินด้วยเทคนิค Kakeibo ต้องมีวินัยและทำอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงเริ่มแรกอาจจะยังค้นหาการเงินของตัวเองไม่ชัดเจนเท่าไหร่ แต่การคุยเรื่องการเงินกับตัวเองบ่อยๆจะทำให้เราเห็นภาพมากขึ้น วางแผนการเงินง่ายขึ้นและทำให้สามารถออมเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นเทคนิคนี้ได้รับการการันตีจากชาวญี่ปุ่นว่าสามารถออมเงินได้จริงแน่นอน มาออมเงินด้วยเทคนิค  Kakeibo กันเถอะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *